รายละเอียดโครงการฯ
รายละเอียดโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ | |
โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education: RIECE Thailand) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ไรซ์ไทยแลนด์” ต้องการสร้างทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่เด็กปฐมวัยเพื่อช่วยให้เด็กปฐมวัยเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการผลิตเพียงพอที่จะสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัว มีศักยภาพภายเพียงพอที่จะสามารถดูแลตนเองและครอบครัว มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีวิจารณญาณที่ดีไม่ตัดสินใจทำในสิ่งที่เป็นปัญหาของสังคม ไม่ว่าจะเป็น การก่ออาชญากรรม การติดยาเสพติด การติดการพนัน ฯลฯ | |
งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัย (early childhood development) มีส่วนสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์ (human capital) ให้กับประชากรของประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของสังคม ช่วยลดต้นทุนทางสังคมที่อาจจะเกิดจากการก่ออาชญากรรม ติดยาเสพติด นอกจากนี้ การพัฒนาเด็กปฐมวัยยังสามารถช่วยลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากการลดความแตกต่างด้านทุนมนุษย์นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน “ไรซ์ไทยแลนด์” จึงความมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้ | |
“ไรซ์ไทยแลนด์” เริ่มต้นจากความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ James J. Heckman จากมหาวิทยาลัยชิคาโก (Heckman and et.al., 2010, 2013) ที่ศึกษาโครงการ Perry Preschool ซึ่งสอนเด็กปฐมวัยอายุ 3 ถึง 4 ขวบ จำนวน 123 คน ด้วยหลักสูตรที่เรียกว่า “ไฮสโคป” (HighScope) ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมือง Ypsilanti รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างปี 1962 ถึง ปี 1964 และตามเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างมาจนถึงปัจจุบัน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit-to-cost ratio) ของโครงการฯ มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 ถึง 12 ต่อ 1 กล่าวคือ การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการและสังคมโดยรวมประมาณ 7 ถึง 12 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ร้อยละ 10 ต่อปี (ดูรูปที่ 1 ประกอบ) ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว “ไรซ์ไทยแลนด์” จึงเลือกใช้หลักสูตร “ไฮสโคป” นอกจากนั้นไฮสโคปยังเน้นที่กระบวนการเรียนการสอนเป็นสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อการเรียนการสอนหรืออุปกรณ์พิเศษที่มีราคาสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการขยายผลให้เกิดการนำกระบวนการ “ไฮสโคป” ไปใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งรองรับเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ของประเทศ | |
รูปที่ 1 : อัตราผลตอบแทนของการลงทุนด้านการศึกษาในแต่ละระดับอายุ ที่มา : Heckman (2008) | |
นอกจากหลักสูตร “ไฮสโคป” แล้ว “ไรซ์ไทยแลนด์” ยังมีกิจกรรมที่สำคัญอีกหลายอย่าง ที่ช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยเกิดขึ้นได้จริง โดยเน้นหลักการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและตรวจสอบดูแลอย่างสม่ำเสมอ กิจกรรมหลักของโครงการฯ ประกอบไปด้วย (เอกสารประกอบที่ 1 นำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละกิจกรรม) | |
1. หลักสูตร “ไฮสโคป” และแผนการสอนอย่างละเอียด โครงการฯ ได้ร่วมมือกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พัฒนาหลักสูตรตามแนวทางของ “ไฮสโคป” และจัดทำแผนการสอนที่มีคุณภาพและมีความละเอียดสูงเพื่อให้คุณครูสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
|
2. ครูโครงการฯ ที่จบปฐมวัยโดยตรง โครงการฯ จัดจ้างผู้ที่จบการศึกษาด้านการสอนปฐมวัยโดยตรง มาเป็นผู้จัดการเรียนการสอนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 20 คน ซึ่งมีส่วนช่วยให้สามารถนำเอาแนวทางการสอนที่เราต้องการไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในเวลา 8 เดือนแรก (พฤษภาคม 2558 ถึง มกราคม 2559) | |
3. การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง โครงการฯ จัดอบรมครูอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมา เราค้นพบว่า การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) มีผลช่วยให้คุณครูสามารถนำเอาแนวทางการสอนของโครงการฯ ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นช่องทางในการขยายผลของโครงการฯ ในอนาคต | |
4. การตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ โครงการฯ จัดให้มีทีมนักวิชาการด้านปฐมวัยออกเยี่ยมและให้คำแนะนำศูนย์ที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อยเดือนละครั้ง | |
5. พานิทานกลับบ้าน โครงการฯ มอบหนังสือนิทานสำหรับเด็กให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการฯ กว่าศูนย์ละ 190 เล่ม โดยส่งเสริมให้เด็กยืมหนังสือกลับบ้านเพื่อให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟัง โครงการฯ พบว่า ภายใน 2 ปี (ปีการศึกษา 2558-59) เด็กยืมหนังสือแล้วกว่า 120,000 ครั้ง | |
6. เยี่ยมบ้านหนูน้อย โครงการฯ วางแผนให้มีการเยี่ยมบ้านเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของเด็กระหว่างที่บ้านและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน รวมถึงเพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างสม่ำเสมอ | |
7. การเก็บข้อมูลและการวิจัย โครงการฯ จะจัดเก็บข้อมูลของเด็กคนเดิมอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี (panel data) ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการและรูปแบบในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างเป็นระบบ หากได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ สถาบันวิจัยฯ จะติดตามเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเดิมนี้ต่อไปจนกระทั่งพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในอนาคต | |
“ไรซ์ไทยแลนด์” เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในเขตจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 21 ตำบล 6 อำเภอ 40 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ดูรูปที่ 2 ประกอบ) ครอบคลุมเด็กอายุระหว่าง 2 ถึง 4 ขวบ กว่า 2,000 คน ท้ายที่สุดนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ไรซ์ไทยแลนด์” จะเป็นตัวอย่างของโครงการวิจัยและพัฒนาที่ดี ซึ่งใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยในอดีตเป็นพื้นฐานในการออกแบบกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกัน การเก็บข้อมูลและการวิจัยที่เป็นระบบของโครงการฯ จะนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ดังที่ตั้งใจไว้ | |
รูปที่ 2: แผนที่แสดงตำแหน่งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการฯ | |
เอกสารอ้างอิง 1. Heckman, J. J. (2008). “The Case for Investing in Disadvantaged Young Children.” Mimeo University of Chicago. 2. Heckman, J. J., S. Moon, R. R. Pinto, P. A. Savelyev, and A. Q. Yavitz (2010). “The rate of return to the Perry Preschool program.” Journal of Public Economics. 3. Heckman, J. J., R. R. Pinto, and P. A. Savelyev (2013). “Understanding the mechanisms through which an influential early childhood program boosted adult outcomes.” American Economic Review. |