โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ "ไรซ์ไทยแลนด์"

process begins

การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มกระบวนการ

1. การวางแผน (Plan)
1.1 การแบ่งกลุ่มเด็ก การตั้งชื่อกลุ่ม
“Q: ใน 1 ห้องควรมีกี่กลุ่ม”

ในห้องเรียนแต่ละห้องที่มีจำนวนเด็กไม่เท่ากัน ครูอาจเกิดข้อสงสัยว่าควรแบ่งเป็นกี่กลุ่มดี ทั้งนี้จำนวนกลุ่มขึ้นอยู่กับจำนวนเด็กในห้องเป็นสำคัญ แต่ไม่ควรเกิน 5 กลุ่ม ตามจำนวนวันที่เด็กมาโรงเรียนใน 1 สัปดาห์ เพื่อที่เด็กแต่ละคนจะได้ทำกิจกรรมกลุ่มย่อย และทำกิจกรรมทบทวน (Review) สัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย
การแบ่ง 5 กลุ่ม ตามจำนวนวัน 5 วัน ที่เด็กมาโรงเรียนใน 1 สัปดาห์มีข้อดี คือ การจัดการต่างๆ ของครูจะดำเนินไปโดยง่าย จำนวนกลุ่มเท่ากันกับจำนวนวันที่มาโรงเรียน เด็กก็จำง่าย ไม่สับสน คุณครูอธิบายง่ายขึ้น
แต่ 5 กลุ่มต่อห้องไม่ใช่คำตอบตายตัวเสมอไป ถ้าในห้องนั้นๆ มีเด็กจำนวนน้อย เช่น เด็กไม่เกิน 15 คน ก็อาจจะแบ่งแค่ 3 กลุ่มก็ได้ เพราะถ้าแบ่ง 5 กลุ่มจะทำให้เด็กในกลุ่มจำนวนน้อยเกินไป  

“Q: 1 กลุ่มควรมีเด็กกี่คน”

ไม่ควรเกิน 5 – 6 คนต่อ 1 กลุ่ม แต่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 3 คน เพราะถ้าจำนวนเด็กในแต่ละกลุ่มเยอะจะทำให้การวางแผนและทบทวนใช้เวลานานเกินไปสำหรับความสนใจของเด็กคนอื่นๆ ทำให้กิจกรรมการทบทวนประสบความสำเร็จได้ยาก ในขณะที่ถ้าจำนวนเด็กน้อยเกินไป ก็จะทำให้การทบทวนสั้นและไม่น่าสนใจสำหรับเด็กคนอื่นๆ เท่าที่ควร อีกทั้งถ้ามีอย่างน้อย 3 คน ถ้าเด็กคนใดคนหนึ่งเกิดไม่มาโรงเรียน เด็กในกลุ่มที่เหลือก็จะเพื่อนในกลุ่มที่ออกไปทบทวนในวันเดียวกัน เพิ่มความมั่นใจ ลดการตื่นเต้นให้เด็กที่จะทบทวนมากยิ่งขึ้น

“Q: แบ่งกลุ่มเพื่ออะไร”

การแบ่งกลุ่มช่วยให้การจัดการของครูในห้องดำเนินไปได้โดยสะดวก ควบคุมจำนวนเด็กในการวางแผนและทบทวนในแต่ละวัน ควบคุมจำนวนเด็กที่ครูต้องจดบันทึกการเข้ามุมในแต่ละวันไม่ให้มากจนเกินไป ซึ่งการที่จำนวนเด็กมากเกินไปทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมชั้นเรียน และดูแลเด็กอย่างทั่วถึงนั้นลดลง เช่น การฟังเด็กวางแผน สังเกตเด็กเล่นในมุม ฟังเด็กทบทวนแล้วจดบันทึกนั้นซึ่งถ้าจำนวนเด็กเยอะครูอาจจะจดสั้น จดไม่ทันก็เป็นได้ ในขณะเดียวกันถ้าจำนวนเด็กไม่มากนัก เป็นกลุ่มเล็กๆ ครูก็สามารถใช้เวลาในการสังเกตเด็กได้มากพอที่จะสังเกตเห็น ประเมิน หรือค้นพบพฤติกรรม/สิ่งที่เด็กปฏิบัติในการเล่นมุมได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือจัดการสิ่งต่างๆ ควบคุมชั้นเรียนได้ดี และดูแลเอาใจใส่พฤติกรรมเด็กได้อย่างทั่วถึง  

“Q: แบ่งกลุ่มอย่างไรดี”

เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งกลุ่ม
1) กำหนดจำนวนกลุ่ม และจำนวนเด็กต่อกลุ่ม (ดูรายละเอียดในหัวข้อ 1 กลุ่มควรมีเด็กกี่คน)
2) ใน 1 กลุ่ม ควรมีทั้งเด็กชายและเด็กหญิงคละกัน
3) ใน 1 กลุ่ม ควรมีจำนวนเด็กใกล้เคียงกัน

“Q: ตั้งชื่อกลุ่มว่าอะไรดี”

คุณครูอาจจะสงสัยว่าเมื่อเริ่มสอนแบบ HighScope แล้วเราแนะนำให้แบ่งกลุ่ม จะตั้งชื่อกลุ่มให้เด็กๆ อย่างไรดี เรามีข้อแนะนำเกี่ยวกับเกณฑ์ที่ควรใช้ในการตั้งชื่อกลุ่ม ดังนี้
1) ในห้องเรียนเดียวกัน แต่ละกลุ่มควรใช้ชื่อที่ใกล้เคียงกัน หรือมีความเกี่ยวข้องกัน เช่น ถ้าเป็นผลไม้ ก็เป็นผลไม้ทุกกลุ่ม ถ้าเป็นสี ก็เป็นสีทุกกลุ่ม
2) เลือกใช้ชื่อใกล้ตัวเด็ก ชื่อที่เด็กสนใจ หรือชื่อที่เด็กชอบ เช่น ชื่อผลไม้ ชื่อสัตว์ ชื่อสี ชื่อดอกไม้ หรือชื่อตัวละครจากนิทานที่เด็กๆ ชอบ หรืออาจจะให้เด็กเลือกกันเอง ว่าจะใช้ชื่ออะไร
3) เลือกชื่อสั้นๆ ไม่เกิน 3 พยางค์ เพื่อให้เด็กๆ จดจำได้ง่าย
4) เลือกชื่อที่สามารถหาภาพที่ชัดเจน เด็กเข้าใจและมองออกได้ง่าย
ตัวอย่างของชื่อกลุ่มที่พบได้บ่อยๆ
ชื่อสี เช่น กลุ่มสีเหลือง กลุ่มสีชมพู กลุ่มสีเขียว กลุ่มสีแสด และกลุ่มสีฟ้า
ชื่อผลไม้ เช่น กลุ่มมะม่วง กลุ่มแตงโม กลุ่มส้ม กลุ่มเงาะ และกลุ่มองุ่น
ชื่อดอกไม้ เช่น กลุ่มดอกเข็ม กลุ่มดอกชบา กลุ่มดอกกุหลาบ กลุ่มดอกบัว และกลุ่มดอกรัก เป็นต้น